10 เทรนด์ E-Commerce ไทย ปี65 ใครต้องปรับตัวบ้าง?

โดย ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้บุกเบิกวงการ E-Commerce ไทย


เมื่อถึงช่วงปลายปีของทุก ๆ ปี กูรู e-Commerce ไทยอย่างคุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ จะคาดการณ์แนวโน้มของการค้าออนไลน์ในปีต่อไป สำหรับปี 2565 จะเป็นอย่างไรนั้นต้องมาดูกันเพราะปีนี้ออนไลน์เข้ามามีบทบาทสูงมากจริงๆ

1. อีคอมเมิร์ชจะกลายเป็นช่องทางหลักของธุรกิจ ปี 2564 อาจจะยังไม่ค่อยชัดมากเท่าไหร่ แต่ปี 2565 จะชัดมากว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักในแง่ของบางธุรกิจยอดขายต่าง ๆ บางกลุ่มอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่เมาก แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตผมบอกได้เลยว่าน่าจะโตขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียวในเชิงของการขาย

2. JSL ปีหน้าจะเริ่มทำกำไรได้แล้ว (JD Centra, Shopee, Lazada) จะพยายามเข้าสู่โหมดการทำกำไร อย่างเมื่อกลางปี 2564 Lazada ส่งงบกลางปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้รายได้ 1.4 หมื่นกว่าล้านบาท กำไรสูงถึง 226 ล้านได้ ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าสงครามยังคงมีอยู่ แต่บางเจ้าเริ่มหยุดการสาดเงิน เริ่มมาโฟกัสที่การทำให้เกิดรายได้ของธุรกิจมากขึ้น กำไรของพวกมาร์เก็ตเพลสนั้น lazada กับ shopee จะได้มาต่างกัน shopee จะมาจากค่าคอมมิชชั่นจากการขายทุกร้านที่ไปเปิดต้องเสียค่าคอมมิชชั่นและการซื้อโฆษณาภายในเว็บไซต์ แตาลาซาด้าจะเอาโมเดลจากจีนมาซึ่งมี 2 โมเดลคือ
1. แบบโฆษณา ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไปขายของจะไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น แต่หากต้องการยอดขายเพิ่มอาจต้องไปซื้อโฆษณาเพิ่ม
2. LazMall ตรงนี้เปิดให้เฉพาะเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งต่องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2-10% ขึ้นอยู่กับประเภทหมวดหมู่สินค้า เมื่อเปรียบเทียบก็ยังถือว่าต่ำการนำไปขายในช่องทางค้าปลีกทั่ว ๆ ไปที่อาจอยู่ที่ 30% เลย นอกจากนี้ยังค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงานที่ไปยืนขาย ฯลฯ
โมเดลรูปแบบใหม่ที่เป็นออนไลน์จะทำให้เจ้าของสินค้าต่างๆ เริ่มสนใจเพราะค่ามาร์จิ้นหรือคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของช่องทางการขายค่อนข้างต่ำกว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมี บรรดามาร์เก็ตเพลสหรือ JSL จึงมุ่งไปที่แบรนด์สินค้าหรือโรงงานต่าง ๆ เพราะกลุ่มนี้เมื่อลงโฆษณาออนไลน์จะจ่ายน้อยกว่าและเห็นยอดขายเลยทันที
ตรงนี้จึงทำให้รายได้ของผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสโตขึ้น เพราะแบรนด์ต่าง ๆ เบนเข็มเบนเม็ดเงินจากที่ไปจ่ายตามสื่อต่าง ๆ มาลงบนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสเริ่มมีรายได้มากขึ้นและเห็นแววว่าจะมีกำไรแล้ว

3. สงครามการเป็นSuperApp หรือง่ายๆ คือเป็นแอปที่ต้องเปิดทุกวัน เป็นแอปพลิเคชันที่มีทุกบริการอยู่ภายใน ที่ผมดูว่ามีความใกล้เคียงเป็น Super App มากคือ Grab ที่สั่งอาหารก็ได้ ส่งสินค้าก็ได้ เดี๋ยวนี้สั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ยังมีวอลเล็ต มีให้กู้เงิน ฯลฯ เต็มไปหมดเลย หรือ TrueMoney เริ่มเป็น Super App แล้ว เดี๋ยวนี้มีกระเป๋าเงิน จ่ายเงินได้ ซื้อกองทุน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทำได้หมดทุกอย่าง
ตอนนี้ Super App เริ่มเบ่งบานในไทย รวมถึงธนาคารต่าง ๆ ก็เริ่มพยายามทำตัวเองให้เป็น Super App ด้วยเหมือนกัน ทุกคนพยายามช่วงชิงเวลาของลูกค่าเพื่อให้ลูกค้าอยู่ในแอปของตัวเองให้นานหรือบ่อยที่สุด ในปีนี้มีการบุกครั้งใหญ่ของสายการบินแอร์เอเชียที่ประกาศว่าจะไม่เป็นแค่สายการบินแล้วแต่จะเป็น Super App และมีการเข้าซื้อ GET ผู้ให้บริการส่งอาหารให้เข้ามารวมอยู่ในแอร์เอเชีย เพื่อให้บริการส่งสินค้าได้ง่ายมากขึ้น
และอีกเจ้าที่ผมว่าน่ากลัวมากคือ Shopee ตอนนี้มีทุกอย่างและรุกหนักมาก และยังไปต่ออีกคือมี ShopeeFood, Shopee Travel นี่คือแนวโน้มของการทำอีคอมเมิร์ซในปีหน้า เราจะเริ่มเจอว่าทุกเจ้าพยายามจะกระโดดเข้ามาเป็น Super App ทุกเจ้าขายของอยู่แล้วแต่พยายามจะขายของให้มีความหลากหลายมากขึ้นโดยอาศัยฐานที่ตัวเองมี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกไปไหนอยู่แต่ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น
หรืออย่าง Flash Express นอกจากทำขนส่ง ผมแอบไปเห็นว่าเขามีการวางแผนจะไปทำ Flash Pay, Flash Warehouse พยายามกระโดดไปทำทุกอย่างเหมือนกัน พยายามกระโดจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำด้วยเหมือนกัน ในแง่ผู้ประกอบการ คำแนะนำก็คือต้องไปทุกอัน ยิ่งเจ้าไหนมีโปรโมชันช่วยมากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งเข้าไปเอาผลประโยชน์เข้ามาทำการตลาดให้กับเรา เช่น มีค่าส่งฟรีก็ต้องเข้าไป เป็นงบที่เราสามารถเอาเข้ามากระตุ้นการตลาดของเราได้

4. LIVECommerce+OEM การขายของออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสด ในปีหน้าจะเป็นการขายทางออนไลน์แบบซีเรียสมากขึ้น คือจะเริ่มเจอพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพที่ขายไลฟ์จนเป็นอาชีพจริง ๆ เรียกว่าเป็น Professional Live Commerce และขายได้ในระดับหลายร้อยล้าน เช่น พิมรี่พาย หรือ สอ.ดอ Style
ผมใช้คำว่า live commerce + OEM คือเมื่อก่อนเราอาจจะเอาของคนอื่นมาขาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เมื่อไลฟ์บ่อย ๆ มีฐานลูกค้ามีคนติดตามแล้ว ก็หันจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าของเราเองเลย เราจะเริ่มเห็นหลายๆ คนเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะอาจได้กำไรมากกว่าเดิม 100-200%เลย ใครที่มีสินค้าแล้วอยากไปจ้างคนอื่นไลฟ์ขายให้ เดี๋ยวนี้เขาจะไม่เอาแล้วครับ เพราะเขาขายของเขาเองกำไรมากกว่าจริง ๆ ผมว่าน่าจะเป็นจุดหนึ่งในการขายของออนไลน์ที่เห็นกันมากเริ่มในปี 2565

5. Combine And Automated ECommerce การค้ารูปแบบใหม่ ต่อไปทุกช่องทางการขายจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกัน ทุกอันจะรวบรวมเข้ามาอยู่ในช่องทางเดียวกันได้ ยอดขายจากออนไลน์ ยอดขายจากทีวี และจากทุกสื่อทุกช่องทางจะสามารถดึงข้อมูลมารวมไว้ที่เดียวกันเพื่อมาวิเคราะห์ว่าช่องทางไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่องทางไหนเวิร์คสุด
เมื่อเรา combine ได้หรือรวมข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ สิ่งที่ตามมาคือ automated คือสามารถต่ออัตโนมัติ เอาพวกแชทบอทเข้ามาช่วยได้ ระบบออกบิล ออก invoice การเก็บข้อมูลทุกอย่าง ฯลฯ การขายของในปัจจุบันจะรวดเร็วขึ้นและจะอัตโนมัติมากขึ้นเลยทีเดียว ล่าสุดผมพัฒนา TARAD U-Commerce 2.0 เป็นระบบที่สามารถรวบรวมยอดขายได้ทุกช่องทางไว้ที่เดียว รวมทั้งการส่งสินค้าจากหลายๆ ขนส่งที่ถูกกว่มปกติผ่าน Shippop และมีระบบชำระเงินทุกช่องทางของ PaySolutions รวมอยู่ที่เดียว ทำให้ใครที่สนใจสามารถสมัครใช้ได้ฟรีเลยครับที่ www.TARAD .com ครับ
และนอกจากนี้แม่ค้าออนไลน์หลายๆ เริ่มหันมาใช้ Chat Bot ในการตอบลูกค้า เวลาทักไปหา จะพบว่าแป๊บเดียวเขาจะตอบกลับมาแล้ว นั่นหมายถึงระบบการบริหารจัดการการขายของออนไลน์เดี๋ยวนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้นและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น จริง ๆ ปีนี้ผมก็เห็นเครื่องไม้เครื่องมือออกมาเยอะแล้วเหมือนกัน

6. Retail Automation การมาของเครื่องขายของอัจฉริยะ ตลอด 24 ชม. ไม่ต้องใช้คน การค้าปลีกแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน ปีหน้าผมว่าจะเริ่มเห็นพวก Vending Machine พวกตู้ขายสินค้าอัตโนมัติต่างๆ ที่สามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมง มากขึ้น ต้องบอกว่าตอนนี้มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเยอะมากขึ้นและราคาไม่แพงแล้ว เราสามารถซื้อตู้พวกนี้มาขายของของเราได้แล้ว
ราคาตู้ Vending Machine พวกนี้เมื่อเปรียบเทียบราคาตู้หนึ่งต่อหนึ่งคนต่อปีแล้วนั้นเราสามารถซื้อตู้พวกนี้ได้เลย และข้อดีคือมันไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ไม่ต้องมีโบนัส สามารถขายได้ 24 ชั่วโมง เป็นเครื่องที่คอยเก็บเงินอย่างเดียว มีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี ใครที่ทำธุรกิจขายของอยู่แล้วอยากให้ลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถใช้ตู้พวกนี้ขายของได้อย่างไรบ้าง

7. การขายของออนไลน์ในปีหน้าจะดุมากขึ้น aggressive มากขึ้น งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิมยอดขายจะได้น้อยลง เพราะอยากที่บอกไปในข้อแรกเลยคืออีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อทุกคนกระโดดเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาก็ต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นต่าง ๆ เมื่อเริ่มใช้งบมากขึ้น งบเริ่มไม่ค่อยได้ผล การแข่งขันมากขึ้น ฉะนั้น ตลาดการลงโฆษณา ตลาดการแข่งขันขายของออนไลน์จะดุเดือดมากขึ้นเยอะเลย
นี่สิ่งหนึ่งที่เตรียมตัวได้เลย แน่นอนว่าต้องปรับตัวในแง่ทีมเรา ต้องมีคนเก่งมากขึ้น ต้องเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับทีมให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ถ้าไม่พัฒนาให้ทีมเก่งมากขึ้น ก็จะขายได้น้อยลง ถ้ายังทำแบบเดิมอยู่คุณจะขายได้น้อยลง และอีกอย่างที่จะตามมาคือ จากที่เคยเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีที่จะติดตามลูกค้าเริ่มไม่ได้ผลแล้ว อย่าง Facebook ก็ดี Apple ก็ดี การติดตามคน การเอาคุกกี้หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ต่อ เริ่มใช้ไม่ค่อยได้แล้ว ฉะนั้น ความแม่นยำจะเริ่มน้อยลง

8. Crypto Commerce เป็นคำใหม่ที่ผมขอใช้คำว่า “Crypto Commerce” คือการใช้สกุลเงินคริปโตมาร่วมกับการค้าจริง ๆ จัง ๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการใช้เหรียญคริปโตมาใช้ แต่เป็นการใช้ในแง่ของการลงทุน มาเก็งกำไรมากกว่า ไม่ได้เอามาซื้อของ แต่ในปีหน้าเราจะเริ่มเจอว่ามีการเอาเงินคริปโตมาซื้อของแล้ว ปีนี้ผมเริ่มเห็นแล้วว่ามีคนเอาเหรียญคริปโตมาซื้อของบ้างแล้ว เช่น ใช้คริปโตซื้อรถยนต์ได้
ตอนนี้กลุ่มคนพวกคริปโตบอกว่าตอนนี้สามารถเอาคริปโตไปซื้อเสื้อผ้าได้ มีสตาร์ทอัพที่ผมไปลงทุนบอกว่ามีการจ้างนักกฎหมายและจ่ายเงินเป็นคริปโต ฯลฯ ฉะนั้นเราจะเริ่มเห็น Crypto Commerce เริ่มใช้กันมากขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่าในแง่ของนโยบายของแบงค์ชาติยังไม่ได้สนับสนุนในแง่การนำเงินคริปโตมาใช้ในแง่การซื้อขายมากเท่าไหร่ แต่ผมว่าในปีหน้าจะเริ่มเห็นในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่ใช่อะไรที่แพร่หลายมากนัก เป็นเฉพาะกลุ่ม

9. D2C จะเริ่มเหิมเกริมมากกว่าเดิม (Direct to Consumer) เพราะทุกแบรนด์สินค้าและโรงงานต่างๆ ต่างโดดเข้ามาขายออนไลน์เองกันหมด เริ่มหันมาขายในมาร์เก็ตเพลส ขายผ่าน Social Media เริ่มสร้างทีมของตัวเอง และเปิดร้านขายเอง ส่งเอง ตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้บางครั้งกลายเป็นการขายแข่งกับดีลเลอร์ของตัวเองด้วยซ้ำไป
อนาคตของค้าปลีกตัวกลางอย่างดีเลอร์ และร้านค้าต่างๆ ที่ผมเคยเตือนไว้ เริ่มชัดแล้วว่าบทบาทความสำคัญจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และปีหน้าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออีคอมเมิร์ซเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ

10. การถดถอยของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น (Local Business Decline) เมื่อ 1-9 มารวมกันจะเกิดการที่ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วย ร้านค้าขนาดเล็ก ฯลฯ จะเริ่มเห็นการหดตัวในปี 2565 เพราะผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น คนต่างจังหวัดจะเริ่มเปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจค้าปลีกทันทีเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ต่อไปจะมีผลกระทบมากขึ้นเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง ยอดขายจะตกลงด้วยเหมือนกัน

ที่มา : https://www.facebook.com/pawoot