7 ข้อต้องรู้เมื่อคิดจะขายของออนไลน์

โดย Pay Solutions


ขายของออนไลน์เป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะในวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของหลายคน เพราะการขายของที่ไม่ต้องมีหน้าร้านและขายผ่านช่องทางออนไลน์นี้สามารถเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี หลายคนสร้างรายได้เพิ่มจากโลกออนไลน์ และหลายคนยังสามารถทำเป็นอาชีพหลักไปจนถึงกลายเป็นผู้ประกอบการที่สามารถจดทะเบียนการค้าตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขาดทุนในการขายออนไลน์ ก่อนที่จะเริ่มลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนตัดสินใจลงเงินและลงแรงของเราลงไป การขายของออนไลน์มีต้นทุนที่ต้องจ่ายที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่การลงทุนหลักร้อยไปถึงหลักล้าน ดังนั้น ควรมีการวางแผนและศึกษาให้รอบคอบก่อน ทั้งจากการหาข้อมูลให้ครบถ้วน สอบถามคนที่มีประสบการณ์

ก่อนเริ่มต้นขายออนไลน์ ควรรู้อะไรบ้าง

1. ขายอะไร

คำถามยอดฮิตที่เราต้องตอบตัวเองหรือเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองก่อนเลยว่าเราชอบอะไร สนใจอะไร และอยากขายอะไร เพราะสิ่งที่เราสนใจจะทำให้เราตอบคำถามลูกค้าได้ชัดเจนมี่สุด หรือถ้าตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าชอบอะไร ก็อาจจะเลือกจากสินค้าที่มีแววว่าจะไปได้ดีในตลาด มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบหรือพูดถึง เพื่อให้แน่ใจว่าขายได้แน่นอน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ต้องมีการศึกษาถึงสินค้านั้น ๆ ให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นราคาในท้องตลาด กลุ่มเป้าหมาย จำนวนการสต๊อกของ ระยะเวลาการจัดส่งและการสั่งซื้อของ รวมไปถึงราคาต้นทุนและกำไรที่เราควรจะขาย ทุนที่ควรมีประมาณ 1,000-100,000 บาท

2. ขายที่ไหน

ช่องทางการขายของออนไลน์ก็มีอยู่ประมาณ 3 ช่องทางหลัก ๆ คือ
- เว็บไซต์ของตัวเอง บางคนยอมลงทุนเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง ข้อดีก็คือสามารถบริหารจัดการทั้งหน้าร้านและหลังบ้านได้เอง รวมถึงมีข้อมูลของลูกค้าเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถจัดการในเรื่องของบริการภายหลังการขายได้อย่างดีอีกด้วย
- มาร์เก็ตเพลส ยักษ์ใหญ่ยอดนิยมในประเทศไทยคือ Lazada, Shopee และ JD Central ช่องทางการขายนี้เป็นที่นิยม เพราะมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้วจำนวนมาก มีความสะดวก ขายง่าย แต่อาจเจอสินค้าซ้ำกับเรา และสินค้าที่มาจากจีนที่มีราคาต่ำมาก ๆ ต้องทำโปรโมชั่นดี ๆ
- โซเชียลมีเดีย หรือเรียกว่าโซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นการขายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่นิยมกันอยู่ เช่น Facebook, Instagram และ LINE ช่องทางนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีลูกค้ารออยู่จำนวนมาก สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย สามารถยิงโฆษณาเองได้จึงกำหนดงบได้เอง สามารถหากลุ่มคนที่สนใจสินค้าของเราได้ง่าย และโดยเฉพาะฟีเจอร์การแชทของแต่ละแพลตฟอร์มนั้นทำให้เราสามารถสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงได้ รวมถึงเสนอโปรโมชั่นใหม่ ๆ ได้ด้วย

3. โปรโมตอย่างไร

ควรศึกษาช่องทางและวิธีการโปรโมตออนไลน์เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เพราะถ้าเราโปรโมตออกไปแบบไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและไม่ตรงกับช่องทางที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคของเราอยู่เลย ก็เหมือนเสียเงินค่าโฆษณาไปฟรี ๆ โดยที่ไม่ได้ลูกค้าและยอดขายกลับเข้ามา
งบโฆษณาไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Google ตั้งไว้ประมาณวันละ 300-500 บาทก็ได้ เดี๋ยวนี้มีคอร์สสอนยิงแอดทั้งแบบฟรีและจ่ายเงินอยู่เยอะมาก หากเราสามารถยิงแอดได้เองจะทำให้เรากำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกับสินค้าของเรา และสามารถพัฒนาต่อยอดในเรื่องของการวางแผนการตลาดต่อไปได้อีก

4. ดูแลลูกค้าอย่างไร

ลูกค้าในออนไลน์นั้นเรียกว่ามาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาที่แน่นอน ถ้าเราเป็นคนตอบคำถามเองเราต้องทำใจยอมรับในจุดนี้ให้ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ชอบการรอคอย ถ้าเป็นไปได้ควรตอบคำถามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
หรืออาจใช้เทคโนโลยีแชทบอทเข้ามาเสริมในส่วนของคำถามที่ลูกค้ามักจะถามบ่อย ๆ เราสามารถตั้งค่าคำตอบแบบอัตโนมัติได้ เช่น ในเรื่องราคา ข้อมูลสินค้า ระยะเวลาการจัดส่ง วิธีขนส่ง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยผ่อนแรงไปได้มาก รวมถึงไม่ทำให้ลูกค้ารอนานจนหนีหายไป

5. ช่องทางชำระเงินแบบใดดีที่สุด

การขายของออนไลน์นั้น ในช่วงของการชำระเงินนั้นเป็นช่วงที่คนจะกดยกเลิกหรือทิ้งสินค้าได้ง่ายที่สุด เพราะหากเราไม่มีวิธีการชำระเงินที่สะดวก ง่าย ครอบคลุมทุกแบบ และปลอดภัยไว้รองรับ โอกาสที่ลูกค้าจะทิ้งเราไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูง
โดยส่วนใหญ่การขายของออนไลน์ก็มักจะใช้วิธีการโอนเงินผ่านช่องทางหลักอย่าง Mobile Banking หรือ e-Wallet แต่อาจยังไม่สามารถจ่ายแบบผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เช่น Alipay, WeChat Pay หรือ Paypal รวมไปถึงเรื่องของการผ่อนชำระสินค้า ที่อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากจนเกินไปสำหรับร้านค้าของเรา
ฉะนั้น เราควรมีช่องทางการชำระเงินที่พร้อมที่สุด รองรับได้ทุกรูปแบบ สะดวก เชื่อถือได้ ปลอดภัย ต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และหากมีระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจัดเก็บและนำส่งสรรพากรได้ง่าย ๆ ด้วยก็ยิ่งดี

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ได้ที่ LINE ID : @paysolutions หรือ โทร.095-372-2152

6. ส่งสินค้าอย่างไร

เราต้องเลือกระบบขนส่งที่สะดวกและประหยัดการเดินทาง เพราะการเดินทางและค่าขนส่งถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ราคาค่าส่งเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ยังไม่รวมค่ากล่องพัสดุ ค่าอุปกรณ์ในการบรรจุหีบห่อ และราคาค่าส่งก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและประเภทการจัดส่งที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย
ดังนั้น เราต้องคิดแจ้งค่าส่งให้ลูกค้าได้ทราบก่อนล่วงหน้า หรือถ้าเรามีโปรโมชั่นแบบส่งฟรีก็ควรจะคิดรวมราคาค่าส่งไปกับราคาสินค้านั้นเลย

7. ภาษีคือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ขายของออนไลน์ ก็ต้องยื่นภาษีเหมือนกันนะ ไม่ว่าคุณจะขายออนไลน์แบบไหน เป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ก็ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด หากไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการค้าขาย
ช่วงเวลาที่ต้องยื่นภาษีจะมีอยู่ 2 ช่วงคือ
- ยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) เดือน ม.ค.-มี.ค. เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
- ยืนภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.94) เดือน ก.ค.-ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดลงจาก 30,000 บาท เหลือ 15,000 บาท

การคำนวณต้นทุนการขายของออนไลน์ไม่ยากอย่างที่คิด อย่างน้อยเราก็ไม่มีต้นทุนในการเช่าพื้นที่หน้าร้าน ทำงานแบบเป็นนายตัวเอง และยังมีรายได้เสริมจากงานประจำในงบประมาณที่ไม่สูงได้ด้วย